ข่าวประกาศ

‘ทริพเพิล ไอ’ โชว์ผลงานไตรมาส 2/2567 รายได้โต 7.7% เตรียมปันผล 0.12 บาทต่อหุ้น พร้อมผสาน ‘ANI’ สร้างบริการใหม่ รองรับดีมานด์ขนส่งสินค้า e-Commerce จากประเทศจีนพุ่งและเข้าสู่ไฮซีซันในครึ่งปีหลัง

 
‘บมจ.ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์' หรือ III ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 มีรายได้รวม 538 ล้านบาท เติบโต 7.7% จากไตรมาสก่อนหน้า ธุรกิจหลัก 4 กลุ่มธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง 3 ไตรมาส แม้เป็นโลว์ซีซัน ส่วนกำไรสุทธิทำได้ 102 ล้านบาท ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าจากส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนลดลง รวมครึ่งปีแรกมีรายได้ 1,038 ล้านบาท กำไรสุทธิ 219 ล้านบาท ด้านบอร์ดอนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.12 บาทต่อหุ้น ครึ่งปีหลังรับปัจจัยบวกจากไฮซีซัน ค่าระวางพุ่ง และดีมานด์สินค้า e-Commerce จากจีนทะลักเข้าไทย เดินหน้ายุทธศาสตร์ Logistics and Beyond เตรียมผสาน ANI สร้างบริการใหม่ Cargo Airline และ Multimodal HUB เพื่อเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าทางอากาศในภูมิภาค ขณะที่ AOTGA เปิดให้บริการ Multimodal Warehouse ตั้งแต่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำระดับภูมิภาค เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 ทริพเพิล ไอ มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 538 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ที่มีรายได้ 499 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจหลัก 4 กลุ่มธุรกิจ เติบโตได้ดี แม้เป็นโลว์ซีซันของธุรกิจโลจิสติกส์ ส่วนกำไรสุทธิทำได้ 102 ล้านบาท ชะลอตัวลง 11.9 % จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 116 ล้านบาท เนื่องจากมีส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงจากธุรกิจใหม่ที่บริษัทเข้าลงทุน โดยผลประกอบการของ ANI ได้รับผลกระทบจากพื้นที่ระวางสำหรับเส้นทางขนส่งต่อ (Transit) สู่ภูมิภาคยุโรป และอเมริกา ซึ่งมีความต้องการสูงแต่มีปริมาณพื้นที่ระวางในการให้บริการจำกัด ส่งผลทำให้เส้นทางขนส่งที่ให้บริการเป็นส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีอัตรากำไรต่ำกว่าภูมิภาคยุโรป และอเมริกา ซึ่ง ANI ได้วางแผนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับความต้องการที่เกิดขึ้น โดยคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่เหลือของปี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยมาจากผลการดำเนินงานของ AOTGA ซึ่งเป็นผลกระทบเพียงระยะสั้นจากการลงทุนเพิ่มทั้งด้านการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ และด้านบุคลากร เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวและปริมาณเที่ยวบินที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ รวมไปถึงโอกาสในการขยายธุรกิจและการให้บริการในอนาคต ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2567 มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 1,038 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 878 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักของรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการที่ธุรกิจหลัก 4 กลุ่มธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกันนับจากไตรมาส 4/2566 โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศแบบขายส่ง (Wholesale Freight Forwarder) ที่บริษัทฯ มุ่งเน้นขยายการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าแบบ Transit ในระดับภูมิภาคที่เติบโตตามการขยายตัวของตลาดสินค้า e-Commerce จากประเทศจีนและปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ 219 ล้านบาท ชะลอตัว 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 301 ล้านบาท จากผลการดำเนินงานดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติอนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาลแก่ผู้ถือหุ้นอัตราหุ้นละ 0.12 บาท รวมทั้งสิ้น 93,930,374.40 บาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายทิพย์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานครึ่งปีหลัง 2567 มีแนวโน้มเติบโตจากครึ่งปีแรกอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งธุรกิจหลัก 4 กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight Business) จากการรับจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศโดยมีประเทศไทยเป็นฮับของภูมิภาค โดยโฟกัสกลุ่มสินค้า e-Commerce และจากปัจจัยความกังวลเหตุความขัดแย้งในทะเลแดงที่ยังไม่คลี่คลาย มีส่วนผลักดันให้ค่าระวางขนส่งสินค้าทางอากาศปรับเพิ่มขึ้น ตลอดจนปัจจัยบวกจากช่วงครึ่งปีหลังที่เป็นไฮซีซัน ดังนั้นแผนธุรกิจครึ่งปีหลังของบริษัทฯ ยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์ Logistics and Beyond โดยเตรียมพัฒนา Multimodal Transportation หรือการขนส่งสินค้าหลายรูปแบบ เพื่อเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางอากาศในภูมิภาคที่รวบรวมสินค้าจากจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนกระจายไปยังประเทศอื่นๆ ผ่านการ Synergy ระหว่างบริษัทฯ และ ANI ผู้นำธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบินในภูมิภาค เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าและพื้นที่ระวางขนส่งสินค้าร่วมกัน รวมถึงศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกเพื่อรับสินค้าจากจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มายังสนามบินสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้บริษัทฯ จะร่วมมือกับ ANI พัฒนา Cargo Airline หรือสายการบินสำหรับขนส่งสินค้าแบบเช่าเหมาลำ เพื่อตอบสนองดีมานด์การขนส่งสินค้าทางอากาศในเส้นทางที่มีอัตราทำกำไรสูง คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ปลายปีนี้หรือต้นปี 2568 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่วางไว้ เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ระวางสินค้าแบบ Transit สู่ภูมิภาคยุโรป และอเมริกา และบางเส้นทางในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีความต้องการพื้นที่ระวางสูงแต่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเป็นเส้นทางที่มีอัตราทำกำไรที่ดี ส่วนบริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOTGA ที่บริษัทฯ ลงทุนผ่าน บริษัท เอสเอแอล กรุ๊ป (ไทยแลนด์) หรือ SAL ได้เปิดให้บริการคลังสินค้ารองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Warehouse) ตั้งแต่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา บนพื้นที่เกือบ 5,000 ตารางเมตร ของศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า (โซน 3) ในเขตปลอดอากรของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดย AOTGA ยังเตรียมยื่นประมูลการคัดเลือกผู้ให้บริการภาคพื้นดินของสนามบินสุวรรณภูมิรายที่ 3 ในเร็วๆ นี้ 'จากแผนธุรกิจดังกล่าวเชื่อมั่นว่าผลประกอบการในปี 2567 จะเติบโตมากกว่า 10% โดยทริพเพิล ไอ ยังคงเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจด้วยยุทธศาสตร์ Logistics and Beyond ในรูปแบบการ Synergy ระหว่างบริษัทในกลุ่ม การร่วมทุนและเข้าซื้อกิจการ โดยเน้นพัฒนาการให้บริการโลจิสติกส์รูปแบบใหม่ทั้งในประเทศและภูมิภาคให้ครอบคลุมและหลากหลาย เพื่อเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย' นายทิพย์กล่าว

‘ทริพเพิล ไอฯ’ มั่นใจผลการดำเนินงานปี‘ 67 โตตามแผน รับอานิสงส์ค่าระวางพุ่ง-ดีมานด์จาก E-Commerce จีน

‘บมจ.ทริพเพิล ไอ’ หรือ III มั่นใจผลการดำเนินงานปี 2567 เติบโตได้ดีตามแผนยุทธศาสตร์มุ่งผนึกกำลังเชื่อมโยงทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจใหม่จากพันธมิตรขับเคลื่อนการเติบโตตามเป้าหมาย 15% จากปีก่อน เตรียมรับปัจจัยบวกในครึ่งปีหลังแบบ 2 เด้งทั้งจากการเข้าสู่ไฮซีซั่นและค่าระวางทางอากาศที่ทยอยปรับขึ้นซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความกังวลปัญหาทะเลแดง และความเสี่ยงจากตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน รวมทั้งความต้องการขนส่งสินค้า E-Commerce จากจีนเพิ่มสูงขึ้น ทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III  ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำระดับภูมิภาค เปิดเผยว่า บริษัทฯ มั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตดี โดยวางเป้าหมายเติบโต 15% จากปีก่อน จากพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ Logistics and Beyond ที่มุ่งสร้าง Synergy เชื่อมโยงทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจใหม่จากพันธมิตรขับเคลื่อนการเติบโต สะท้อนจากความสำเร็จของในการเข้าลงทุนบริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ANI  ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจตัวแทนขายและบริหารพื้นที่ขนส่งสินค้าทางสายการบิน (GSA) ในระดับภูมิภาค ที่เตรียมขยายการให้บริการอีก 3 ประเทศเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อินเดีย เกาหลี และญี่ปุ่นจากปัจจุบันที่ให้บริการ 8 ประเทศ รวม 22 สายการบิน ขณะที่บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOTGA ที่บริษัทฯ ลงทุนผ่าน บริษัท เอสเอแอล กรุ๊ป (ไทยแลนด์) หรือ SAL ล่าสุดเริ่มเปิดให้บริการคลังสินค้ารองรับการขนส่งหลายรูปแบบหรือ Multimodal Warehouse บนพื้นที่ศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า (โซน 3) ในเขตปลอดอากรของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดย AOTGA ยังเตรียมยื่นประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ให้บริการภาคพื้นดินของสนามบินสุวรรณภูมิรายที่ 3 ในเร็วๆนี้ สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ครึ่งปีหลัง ทิพย์ มองว่า ทิศทางน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก จากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ รวมถึงค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้นจากความกังวลเหตุความขัดแย้งในทะเลแดง และความเสี่ยงด้านการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งสินค้า E-Commerce จากจีนมาผ่านไทยไปประเทศต่างๆ มีความต้องการสูงมาก จึงมีส่วนผลักดันให้ค่าระวางทางอากาศ (Air Freight) เริ่มปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลังของปีนี้ “เราคือผู้ให้บริการชั้นนำที่มีความชำนาญด้านการขนส่งทางอากาศแบบครบวงจร ทำให้ในภาพรวมจะได้รับปัจจัยบวกไม่ว่าจะเป็นธุรกิจตัวแทนสายการบินในการบริหารและขายพื้นที่ระวางสินค้า ธุรกิจการเป็นผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ รวมถึงการให้บริการภาคพื้นท่าอากาศยาน  และล่าสุดจากการที่มีการใช้บริการด้านการขนส่งทางอากาศอย่างหนาแน่นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้มีการเลือกไปใช้บริการเพิ่มขึ้นที่สนามบินภูเก็ต ส่งผลให้บริษัทลูกของเราที่ให้บริการด้านการขนส่งทางอากาศอย่าง บริษัท ทริพเพิล ไอ แอร์ เอ็กซ์เพรส มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในครึ่งปีหลัง เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการ Transit ผ่านสนามบินภูเก็ตจำนวนมาก” ทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย

‘III’ ส่งบริษัทลูก ‘AGS’ เตรียมเปิดให้บริการ Multimodal Warehouse ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ

“บมจ. ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์” หรือ III เตรียมส่ง “บจก. เอเชีย กราวด์ เซอร์วิส” หรือ AGS บริษัทในเครือที่เป็นผู้ให้บริการภาคพื้นท่าอากาศยานดอนเมือง ขยายบริการไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ล่าสุด!เตรียมเปิดให้บริการคลังสินค้ารองรับการขนส่งหลายรูปแบบ หรือ Multimodal Warehouse บนพื้นที่ศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า (โซน 3) หรือ Multimodal Transportation Center (Zone 3) ในเขตปลอดอากรของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งดำเนินการโดย บจก. บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย หรือ AOTGA …งานนี้ “ทิพย์ ดาลาล” ซีอีโอทริพเพิลไอ ส่งผู้บริหาร AGS เดินหน้าโปรโมทเต็มตัว เพื่อเชิญชวนกันมาใช้บริการ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในไตรมาส 3 นี้ !

‘ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์’ ชูยุทธศาสตร์ Logistics and Beyond ผสานความแข็งแกร่งกลุ่มธุรกิจ ดันไตรมาส 1/2567 รายได้โต 14% แนวโน้มดีต่อเนื่องรับเทรนด์โลจิสติกส์ฟื้นตัว

บมจ.ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ หรือ III เปิดงบไตรมาส 1/2567 มีรายได้ 499 ล้านบาท เติบโต 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์เดิมสามารถเติบโตแม้เผชิญภาวะค่าระวางที่ลดลง สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการขยายฐานลูกค้าและปริมาณการให้บริการที่เพิ่มขึ้น และมีกำไรสุทธิ 116 ล้านบาท ลดลง 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสัดส่วนกำไรที่ลดลงถือเป็นผลกระทบที่ต่ำกว่าการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้นใน ANI เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับส่วนแบ่งกำไรที่เติบโตจากการเข้าลงทุนในบริษัทอื่นๆ มาชดเชยตามแผนที่วางไว้ มั่นใจผลการดำเนินงานช่วงที่เหลือของปีแนวโน้มดีจากเทรนด์โลจิสติกส์ฟื้นตัว และการขยายธุรกิจของบริษัทที่เข้าลงทุน ตอกย้ำยุทธศาสตร์ Logistics and Beyond ผสานความแข็งแกร่งกลุ่มธุรกิจในเครือทริพเพิลไอ นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำระดับภูมิภาค เปิดเผยว่า บริษัทฯ สามารถทำผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 เติบโตได้ดี ทั้งที่อยู่ในภาวะค่าระวางที่ลดลง โดยมีรายได้จากการขายและให้บริการ 499 ล้านบาท เติบโต 14% และมีกำไรสุทธิ 116 ล้านบาท ลดลง 19 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายได้เติบโตมาจากการฟื้นตัวที่ดีของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับบริษัทฯ ได้วางยุทธศาสตร์ Logistics and Beyond ด้วยการขยายธุรกิจและการลงทุนด้านโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อผสานความแข็งแกร่งภายในกลุ่มบริษัททริพเพิลไอ ทำให้กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางอากาศมีอัตราเติบโตที่ดี และแม้สัดส่วนการถือหุ้นใน ANI ลดลง แต่ด้วยยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ทำให้ได้รับส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจอื่นๆ ที่เข้าลงทุนมาชดเชยอย่างมีนัยสำคัญ ภาพรวมสำหรับกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์เดิมของบริษัทฯ สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศและกลุ่มธุรกิจบริหารจัดการโลจิสติกส์สำหรับเคมีภัณฑ์และสินค้าอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นจากธุรกิจการรับจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศ ที่มุ่งเน้นการใช้ประเทศไทยเป็น HUB ในภูมิภาค โดยโฟกัสไปยังกลุ่มสินค้า e-Commerce เป็นหลัก แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากค่าระวางขนส่งสินค้าทางอากาศปรับตัวลดลงอย่างมาก รวมไปถึงการเติบโตของธุรกิจให้บริการคลังสินค้าในท่าอากาศยานดอนเมืองที่มีปริมาณสินค้าผ่านคลังที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น ในส่วนธุรกิจใหม่ที่บริษัทฯ เข้าลงทุนอย่างบริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ANI ผู้นำธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบินในภูมิภาค แม้บริษัทฯ จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน ANI ลดลงหลังจาก ANI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่จากการที่ ANI เตรียมเดินหน้าขยายบริการเพิ่มอีก 3 ประเทศเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อินเดีย เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งเดิมมีพื้นที่ทางธุรกิจครอบคลุม 8 ประเทศเอเชีย จะทำให้บริษัทฯ มีโอกาสได้รับส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้นในไตรมาสถัดไป ที่สำคัญจากการลงทุนผ่าน บริษัท เอสเอแอล กรุ๊ป (ไทยแลนด์) หรือ SAL ทำให้ในไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ ได้รับส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตที่โดดเด่นของ บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOTGA ผู้ให้บริการภาคพื้นสนามบินและผู้โดยสารในสนามบินดอนเมืองและภูเก็ต ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว รวมทั้งจะเริ่มให้บริการคลังสินค้ารองรับการขนส่งหลายรูปแบบ (MULTIMODAL WAREHOUSE) บนพื้นที่ประมาณ 4,800 ตร.ม. ภายในสนามบินสุวรรณภูมิในไตรมาส 2/2567 และล่าสุด AOTGA เตรียมยื่นประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ให้บริการภาคพื้นดินของสนามบินสุวรรณภูมิรายที่ 3 ในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ยังหาโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ สร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน “จากภาพรวมในไตรมาส 1/2567 รวมถึงปัจจัยบวกต่างๆ คาดว่าบริษัทฯ มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีทั้งจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์เดิม และธุรกิจใหม่ที่เข้าลงทุน มั่นใจว่าจะผลักดันให้ปีนี้เติบโต 15% ได้ตามเป้าหมาย โดยการมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยยุทธศาสตร์ Logistics and Beyond ผสานความแข็งแกร่งของกลุ่มธุรกิจในรูปแบบการ Synergy ระหว่างบริษัทในกลุ่ม การร่วมทุนและเข้าซื้อกิจการ โดยเน้นพัฒนาการให้บริการโลจิสติกส์รูปแบบใหม่ๆ ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคให้ครอบคลุมและหลากหลาย เพื่อเติบโตอย่างรวดเร็วรับเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวและก้าวสู่หนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ กล่าว

บอร์ดทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ ไฟเขียวเสนอผู้ถือหุ้นเข้าลงทุน 5,520 ล้าน ซื้อกิจการ Asia GSA มาเลเซีย ขึ้นแท่นผู้นำโลจิสติกส์ในเอเชีย

คณะกรรมการ บมจ. ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ (III) มีมติอนุมัติเสนอผู้ถือหุ้นเพื่อเข้าซื้อกิจการ Asia GSA (M) ในประเทศมาเลเซีย มูลค่ากว่า 5,520 ล้านบาท ผ่านบริษัทย่อย ANI ขึ้นแท่นผู้นำโลจิสติกส์ในภูมิภาคเอเชีย เล็งขยายบริการมากกว่า 10 ประเทศ ตอกย้ำยุทธศาสตร์ "Logistics and Beyond" เร่งสร้างรายได้เติบโตแข็งแกร่งในปี 2566 นายทิพย์  ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (III) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติการเข้าซื้อกิจการ Asia GSA (M) ผ่านบริษัทย่อย เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล (Asia Network International หรือ ANI) ที่ III ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50.35 โดยเงินลงทุนในการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5,520 ล้านบาท นับเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของบริษัทในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน  ภายใต้แนวคิด “Logistics and Beyond” เพื่อเสริมความแข็งแกร่งก้าวสู่การเป็นบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำในระดับภูมิภาคนายทิพย์  ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (III) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติการเข้าซื้อกิจการ Asia GSA (M) ผ่านบริษัทย่อย เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล (Asia Network International หรือ ANI) ที่ III ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50.35 โดยเงินลงทุนในการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5,520 ล้านบาท นับเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของบริษัทในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน  ภายใต้แนวคิด “Logistics and Beyond” เพื่อเสริมความแข็งแกร่งก้าวสู่การเป็นบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำในระดับภูมิภาค “การเข้าลงทุนในบริษัท Asia GSA (M) ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ ในระยะยาว ด้วยการขยายเครือข่ายการให้บริการด้านโลจิสติกส์ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชีย ผ่านเครือข่ายพันธมิตรมากกว่า 10 ประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึงไทย และสามารถขยายเครือข่ายพันธมิตรไปสู่ภูมิภาคอื่นทั่วโลก เช่น ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างที่จะทำให้บริษัทฯ เติบโตสู่การเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์ในเอเชียที่มีเครือข่ายและฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคนี้” นายทิพย์กล่าว จากการเข้าลงทุนดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทจึงได้มีมติอนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ ขึ้นอีกจำนวน 25.387,820.50 บาท จากเดิมทุนจดทะเบียนจำนวน 380,817,306.00 บาท เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 406,205,126.50 บาท และมีมติอนุมัติให้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ โดยกำหนดสิทธิให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (Rights Offerings) ในอัตราจัดสรร 15 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ซึ่งการเพิ่มทุนในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของเงินลงทุนที่จะสร้างฐานทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจอื่นๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ ในอนาคต สำหรับการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นจะจัดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ การเข้าซื้อกิจการ Asia GSA (M) ของ III ผ่านบริษัทย่อย ANI จะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสแรกของปี 2566 ขณะที่แผนการนำ ANI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะขอยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในเดือน 4 ของปี 2566 ซึ่งหาก ANI สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จ จะเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนสายการบินระดับภูมิภาครายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจในระดับภูมิภาค สำหรับการเข้าซื้อกิจการ Asia GSA (M) เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ ภายใต้แนวคิด "Logistics and Beyond" ซึ่งประกอบไปด้วย 4 แนวคิดหลัก ดังนี้ - Beyond Boundary จากผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ครบวงจรระดับแนวหน้าของไทย ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ชั้นนำในระดับภูมิภาค โดยเตรียมความพร้อมการเป็นตัวแทนสายการบินต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค จากปัจจุบันที่เป็นตัวแทนอยู่กว่า 20 สายการบิน - Beyond Traditional Logistics Service พัฒนาโมเดลธุรกิจและบริการในรูปแบบใหม่ ๆ นอกเหนือไปจากบริการเดิม อาทิ ธุรกิจการให้บริการภาคพื้นอากาศยานที่ครอบคลุมทั้งสินค้าและผู้โดยสาร ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางรางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ - Beyond Traditional Platform พัฒนาบริการโลจิสติกส์ในรูปแบบออนไลน์ อาทิ e-Commerce Enabler, e-Logistics Platform เพื่อรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดอีคอมเมิร์ส - Beyond Existing Expertise ต่อยอดการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์เฉพาะทาง นายทิพย์ กล่าวเสริมว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจบริการขนส่งสินค้าทางอากาศในช่วงครึ่งปีหลัง มีทิศทางทีดีขึ้น หลังจากการเดินทางทั่วโลกเริ่มมีการผ่อนคลายและเปิดประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดประเทศอีกครั้งในปลายปีนี้ ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนคลี่คลายลง ทำให้บริษัทฯ มีพื้นที่ระวางสินค้าให้บริการได้มากขึ้น  จะมีผลต่อผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และต่อเนื่องถึงปี 2566 “บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถสร้างผลประกอบการในปี 2565 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย และเติบโตต่อเนื่องในปี 2566 เนื่องจากสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มทยอยเปิดการเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะจีนคาดว่าจะเริ่มคลายล็อกดาวน์ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้การขนส่งระหว่างประเทศกลับมาคึกคักมากขึ้น” นายทิพย์กล่าวอย่างมั่นใจ

ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ ปลื้มผลประกอบการ Q2/65 พุ่งนิวไฮอีกรอบ ตอกย้ำยุทธศาสตร์ "Logistics and Beyond" มั่นใจปีนี้ผลงานเด่นเติบโตเข้าเป้า

บมจ. ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ (III) โชว์ผลประกอบการไตรมาส 2/2565 ทุบสถิตินิวไฮอีกครั้งด้วยกำไรสุทธิไตรมาส 2/2565 จำนวน 119.1 ล้านบาท เติบโตโดดเด่นกว่าร้อยละ 39.0 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าไตรมาสที่ผ่านมาจะมีปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย มาตรการล็อคดาวน์ของจีนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ รวมถึงการที่ในไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ ต้องตั้งสำรองจากลูกหนี้สายการบินรายหนึ่งกว่า 16 ล้านบาท แต่ด้วยยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจในฐานะผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรอย่างแท้จริง โดยการเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจพื้นฐาน 4 กลุ่มหลัก ประกอบกับการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ที่มาจากการเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ที่ผ่านมาสามารถสร้างส่วนแบ่งกำไรได้ดีอย่างต่อเนื่องตามคาดการณ์ นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งปีหลังภาพรวมของธุรกิจจะยังเติบโตได้เป็นอย่างดีทั้งในแง่ของรายได้และกำไร โดยเฉพาะในไตรมาส 3/2565 ที่จะมีปริมาณความต้องการใช้บริการธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้า รวมไปถึงธุรกิจโลจิสติกส์ที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วง High Season สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังยังขยายตัวได้ดี ด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจช่วยเกื้อหนุนการส่งออก ได้แก่ ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังเติบโตตามการขยายตัวของภาคการผลิตโลก แต่อาจมีความเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของการบริโภคจากภาวะเงินเฟ้อโลกที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภคในต่างประเทศ “บริษัทฯ ยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2565 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย ทั้งจากผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ประกอบกับการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ของการเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการรักษาศักยภาพทางการแข่งขันของธุรกิจหลักทั้ง 4 กลุ่มที่เรามีความชำนาญในแต่ละธุรกิจอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงเพื่อลดการพึ่งพิงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง รวมถึงแผนการขยายธุรกิจและเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่เพื่อต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ให้ครอบคลุมความต้องการด้านโลจิสติกส์ในทุกมิติ ซึ่งเป็นแผนการเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด “Logistics and Beyond” ก้าวสู่การเป็นบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตามเป้าหมายที่วางไว้” นายทิพย์กล่าว โดยแนวคิดการเติบโตแบบ "Logistics and Beyond" คือแผนการดำเนินธุรกิจที่ขยายการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมความต้องการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรอย่างแท้จริงทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครือข่ายธุรกิจด้วยการจับมือพันธมิตรในระดับภูมิภาคเพื่อขยายขอบเขตการให้บริการ การพัฒนาโมเดลธุรกิจและบริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่นอกเหนือไปจากบริการเดิมที่บริษัทฯ มีให้บริการอยู่ในปัจจุบัน การพัฒนาแพลมฟอร์ม e-Logistics เพื่อรองรับการเติบโตของตลาด e-Commerce จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคภายหลังภาวะโรคระบาด รวมไปถึงการต่อยอดบริการด้านโลจิสติกส์เฉพาะทางที่บริษัทฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้ว นายทิพย์ เผยต่อว่าแผนการนำ บริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (ANI) ซึ่งเป็นตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบินในภูมิภาคเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังคงพยายามผลักดันให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยคาดว่าจะขอยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ จากนั้นจะยื่นจดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก (IPO) ราวช่วงต้นปีหน้า ซึ่งหาก ANI สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จ จะเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนสายการบินระดับภูมิภาครายแรกและรายเดียวในประเทศไทย สำหรับผลประกอบการ ANI ยังคงสามารถสร้างผลประกอบการได้ตามเป้าหมาย โดยครึ่งปี 2565 ที่ผ่านมามีรายได้จากการให้บริการกว่า 2,759 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิกว่า 245 ล้านบาท โดยมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ทางกลุ่มให้บริการมากกว่า 120,000 ตันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่า ANI จะสร้างผลงานได้ดีต่อเนื่องทั้งปี นอกจากนี้ จากมาตรการเดินทางเข้าและออกที่เข้มงวดของประเทศจีน ส่งผลให้เที่ยวบินที่มีผู้โดยสารของสายการบินต่างๆ ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ จึงเป็นโอกาสที่ดีต่อธุรกิจให้บริการเที่ยวบินแบบขนส่งสินค้าของ ANI นายทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ผ่านมาของทริพเพิล ไอ นั้นสูงสุด ทั้งที่เป็นไตรมาสที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าต่ำสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่นของปี สำหรับทิศทางผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังประเมินว่า สถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น ส่งผลให้มีปัจจัยบวกต่อุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งการเดินทางทั่วโลกที่มีการผ่อนคลายเปิดประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น สถานการณ์ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนคลี่คลายลงทำให้บริษัทฯ มีพื้นที่ระวางสินค้าให้บริการได้มากขึ้น และราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง ในส่วนของสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศจีนและไต้หวันคาดว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากนัก

III ประกาศดัน ANI เข้าตลาดฯ ปลายปีนี้ เชื่อมจิ๊กซอว์ผงาดโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคทั้งทางอากาศ-เรือ-ราง

บมจ.ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ (III) ปักหมุดแตกธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน โดยกลุ่ม ANI จะเข้าระดมทุนในไตรมาส 4/2565 พร้อมจับมือพันธมิตรใหญ่ในลาว เตรียมปูพรมบริการขนส่งทางรางระหว่างประเทศเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายจีน-สปป.ลาว ประกาศสิ้นปีนี้ก้าวสู่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค ครอบคลุมทั้งทางอากาศ เรือ และราง นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III ผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจรของไทย เปิดเผยว่า ปีนี้เห็นสัญญาณการเติบโตของธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรก จากการที่หลายประเทศทั้งภูมิภาคยุโรป และเอเชีย เริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ แนวโน้มปริมาณเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้ ทำให้บริษัทฯ มีอุปทานของพื้นที่ระวางขนส่งสินค้าทางอากาศให้บริการแก่ลูกค้ามากขึ้น นับเป็นปัจจัยบวกต่อแผนการแตกธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน เพื่อนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยไตรมาส 4 ปีนี้ เตรียมนำบริษัทร่วมทุน “บริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (ANI)” เข้าระดมทุน สานเป้าหมายของทริพเพิลไอ ในการก้าวเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค เนื่องจากปัจจุบัน ANI เป็นตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบินไม่ต่ำกว่า 20 สายการบินทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยครอบคลุมประเทศไทย เวียดนาม ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า และกัมพูชา ซึ่งเป็นฐานการผลิต และการกระจายสินค้าในระดับนานาชาติ “ผลประกอบการของ บมจ.ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ ในไตรมาส 1/2565 มีรายได้รวม 744.8 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 112.73 ล้านบาท เติบโตกว่า 45.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นตัวเลขที่เราค่อนข้างพอใจ เพราะโดยทั่วไปของธุรกิจนี้ แม้ในไตรมาสแรกจะมีปัจจัยภายนอกกระทบ ทั้งเป็นช่วงที่มีความต้องการขนส่งสินค้าน้อยสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่นของปี รวมถึงการมีวันหยุดยาว อีกทั้งเมื่อเดือนมีนาคม ยังมีการล็อคดาวน์ของจีน ซึ่งกระทบเราที่มีธุรกิจในเอเชียและจีนมาก แต่เรายังสามารถสร้างการเติบโตได้ และเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปกติเป็นช่วงพีคสุดของปี ตัวเลขการเติบโตต่างกันเพียง 1%” นายทิพย์กล่าว ทั้งนี้ การเติบโตในไตรมาสแรกเป็นผลจากการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ที่มาจากการเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการรับรู้ส่วนแบ่งกําไรอย่างโดดเด่น จากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า ขณะที่ยังรักษาระดับการทำกำไรจากธุรกิจหลักในกลุ่มบริหารจัดการโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยนายทิพย์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจดังกล่าวจะยังสามารถเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งการขนส่งสินค้าทางทะเลและทางอากาศ ที่บริษัทฯ ได้ให้บริการเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า จากสถานการณ์ตู้ขนส่งสินค้าขาดแคลน ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเน้นการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้แก่ สินค้ากลุ่มอาหาร ผลไม้ ยาและเวชภัณฑ์ ทางด้านกลยุทธ์การเติบโตในไตรมาส 2/2565 สำหรับกลุ่มธุรกิจหลัก บริษัทฯ ได้ขยายการให้บริการขนส่งทางราง โดยวางภาพไว้ครอบคลุมทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ โดยในส่วนของการขนส่งในประเทศ เริ่มทดลองให้บริการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 และจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 นี้ ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม นำร่องจากเส้นทางลาดกระบัง-ราชบุรี จำนวน 3 เที่ยวต่อสัปดาห์ และเตรียมแผนขยายบริการไปยังเส้นทางอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ได้แก่ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น ล่าสุด บริษัทฯ มีความร่วมมือกับบริษัท Sitthi Logistics Laos Co., Ltd. (“Sitthi”) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์และคลังสินค้าครบวงจรชั้นนำในประเทศลาว เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจการเป็นตัวแทนให้บริการขนส่งทางรางระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 65 อีกทั้งถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับเป้าหมายหลัก ในการให้บริการขนส่งทางรางระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว “ภายในสิ้นปีนี้บริษัทฯ จะสามารถผลักดันเป้าหมาย การก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค ที่ครอบคลุมทั้งระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศ ทางเรือ และทางราง ผ่านการขยายการลงทุนและความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร” นายทิพย์กล่าว นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจจุดรับส่งพัสดุ (Drop-off) โดยการขายหุ้นบริษัท เอ.ที.พี.เฟรนด์ เซอร์วิส จํากัด (ShipSmile) 43% ให้กับบริษัท สบาย สปีด จำกัด (SBS) ซึ่งเป็นโฮลดิ้ง และภายหลังการปรับโครงสร้าง ทริพเพิลไอ จะเข้าถือหุ้น SBS ในสัดส่วน 18% ทั้งนี้ SBS จะเป็นผู้ดําเนินธุรกิจการให้บริการจุดรับส่งพัสดุ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร เพิ่มบริการอื่นๆ นอกจากการเป็นจุดรับส่งพัสดุ ได้แก่ บริการขายประกันขนส่ง ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ บริการต่อ พรบ. บริการรับชำระค่าสาธารณูปโภคและค่าโทรศัพท์ เป็นต้น ปัจจุบันกลุ่มมีสาขาที่ให้บริการรวม ShipSmile แล้วมากกว่า 12,000 สาขา “ถือเป็นการรวมจุดแข็งของธุรกิจ Delivery และ Logistics สร้างระบบอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์ เพราะในธุรกิจนี้ การมีจำนวนสาขามากจัดเป็นข้อได้เปรียบของ Express Shop หรือ Drop-off เพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงลูกค้าได้จำนวนมาก และครอบคลุมยิ่งขึ้น ต้นทุนลดลง อีกทั้งสอดคล้องกับแนวโน้มการปรับตัวรับการแข่งขันของผู้ประกอบการ Delivery ที่เห็นโอกาสประหยัดต้นทุนในการเปิดสาขาใหม่และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยมาร่วมเป็นพันธมิตรในเครือข่ายของ SBS” นายทิพย์กล่าว

III ประกาศเป้าหมายใหญ่ปี 65 ปักหมุดเป็นโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคเอเชีย

บมจ. ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ หรือ III ประกาศปี 65 ดัน 2 โครงการ บุกเบิกความสำเร็จในการไต่ชั้นบริษัทระดับภูมิภาค (Regional) พร้อมนำ ANI เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมรับขาขึ้นของขนส่งทางอากาศและสายการบิน เตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านโลจิสติกส์ ขยายธุรกิจการขนส่งทางรางสู่การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Logistics) นายวิรัช นอบน้อมธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III ผู้นำด้านโลจิสติกส์ครบวงจรของไทย เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายในปี 2565 ตั้งเป้าผลักดันธุรกิจของ III สู่การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค โดยนำร่องจากการแตกบริษัทลูกคือ บริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ANI) นำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปีนี้ สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาสู่การเป็นกลุ่มตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบินในระดับภูมิภาค เพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการเป็นผู้นำด้านการให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรในภูมิภาค (Regional Logistics Player) ปัจจุบัน ANI มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และมีสำนักงานครอบคลุม ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ซึ่งเป็นฐานการผลิตและการกระจายสินค้าในระดับนานาชาติ สร้างสัดส่วนผลประกอบการ 70% จากต่างประเทศ และมีการเติบโตชัดเจน จึงมีศักยภาพที่จะสร้างความเติบโตในฐานะบริษัทระดับภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรมในปีนี้ “ผลประกอบการด้านการขนส่งทางอากาศทั้งของเราและภูมิภาคยังเติบโตสูง ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจสายการบินเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว ดังนั้นเราเห็นโอกาสเติบโต จึงเป็นจังหวะที่ดีในการที่จะนำ ANI เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนเพื่อนำมาขยายธุรกิจต่อเนื่องในภูมิภาค และเตรียมความพร้อมเป็นตัวแทนสายการบินต่างๆ จากปัจจุบันเรามีอยู่กว่า 20 สายการบินที่เราเป็นตัวแทนในระดับภูมิภาค” นายวิรัชกล่าว นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมขยายธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนของการขนส่งทางราง (Rail Freight) โดยจะพัฒนาเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างประเทศได้ภายในไตรมาส 2/2565 โดยรุกจากเส้นทางรถไฟสายจีน-สปป.ลาว ที่เริ่มเปิดให้บริการไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมต่อสำคัญภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ทั้งนี้ นายวิรัชมองว่าการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ยังมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทั้งส่วนของการขนส่งสินค้าทางทะเลและทางอากาศ รวมถึงการขนส่งสินค้าทางบก การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนแบบ Multimodal ขนสินค้าเชื่อมโยงระหว่างจีนกับอาเซียน “นี่คือ 2 โครงการหลักๆ ของปีนี้ที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการเติบโตของ III เป็นการพัฒนารูปแบบโลจิสติกส์ใหม่ๆ ไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจที่ทำอยู่ปัจจุบัน โดยมีการขยายผลิตภัณฑ์โลจิสติกส์ใน segment ใหม่ๆ” นายวิรัชกล่าว จากการคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มองแนวโน้มการเติบโตทั้งการขนส่งสินค้าทางอากาศและการขนส่งสินค้าทางทะเลในปี 2565 ว่ายังมีทิศทางที่ดี โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องร้อยละ 3.4 และคาดว่าการส่งออกของไทยจะมีการขยายตัวที่ร้อยละ 3.0-4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับมาภายหลังการเปิดประเทศ นายวิรัชกล่าวว่า ปีนี้ III ยังมองถึงการเกาะติดโอกาสด้านธุรกิจการให้บริการโลจิสติกส์ สำหรับลูกค้ากลุ่มอี-คอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ และ Domestic Delivery ที่มีการขยายตัว โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ บมจ. สบาย เทคโนโลยี พัฒนาธุรกิจให้ ShipSmile และจับมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการ Delivery ทุกค่าย และยังมีการเพิ่มบริการอื่นๆ เป็นให้เป็นศูนย์รวมระบบแฟรนไชส์ ทั้งจุดรับส่งพัสดุ และบริการรูปแบบเคาน์เตอร์เซอร์วิสอื่นๆ ปัจจุบันมีจำนวนสาขาประมาณ 5,000 สาขา และตั้งเป้าหมายครบ 9,000 สาขาในปีนี้ ด้านภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2564 บริษัทฯ สามารถสร้างสถิติสูงสุดใหม่ (New high) ติดต่อกันทุกไตรมาสตลอดทั้งปี โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,939.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 82.9 และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 377.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 132.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 162.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นความสำเร็จที่มาจากการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่หลากหลาย การขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

ทริพเพิล ไอ ภูมิใจเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือสังคมไทยตลอดปี 2564

บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ iii เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มุ่งมั่น และให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ด้วยความเชื่อที่ว่าธุรกิจไม่อาจประสบความสำเร็จอย่างยั่นยืนหากขาดการให้ความสำคัญกับสังคม โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ในขณะที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่บริษัทฯ ยังตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ในปีนี้จึงมีการแรงร่วมใจทั้งทีมผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาของทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์และบริษัทในเครือ ร่วมกันทำกิจกรรมดีๆ คืนสู่สังคมหลายโครงการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาให้กับหน่วยงานต่างๆ และช่วยบรรเทาทุกข์พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคระบาด นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติก จำกัด (มหาชน) เล่าให้เราฟังว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์โควิด-19 แม้ว่าบริษัทฯ เองจะได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจบางส่วน แต่ทีมผู้บริหารรวมถึงพนักงานทุกระดับชั้น ยังพยายามขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้การรวมตัวทำกิจกรรมจะทำได้ยากก็ตาม แต่เรามองว่าเมื่อสังคมประสบกับภาวะที่ยากลำบาก เรายิ่งต้องพยายามยื่นมือเข้าช่วยเหลือกัน เรื่องราวดีๆ ในปีนี้ที่บริษัทฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมด้านแรก คือ ด้านสาธารณสุข โดยเริ่มตั้งแต่การจัดหาวัคซีนให้แก่พนักงาน และกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางบริษัทฯ เข้าร่วมโครงการขอรับการจัดสรรวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" กับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นอกจากการจัดหาวัคซีนให้แล้วนั้น ทางบริษัทฯ ยังจัดเตรียมชุด Home Isolation Kit ที่ประกอบไปด้วยอุปกรณ์พื้นฐานทางการแพทย์ และชุดยาที่ครอบคลุมอาการเจ็บป่วยส่งไปให้พนักงานที่ติดเชื้อไรวัสโควิด-19 เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ในช่วงที่การแพร่ระบาดเริ่มรุนแรง บริษัทฯ ร่วมสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ได้แก่ชุด PPE หน้ากากอนามัย เฟสชีลด์ อุปกรณ์วัดออกซิเจนปลายนิ้ว ถุงมือยาง และสเปรย์แอลกอฮอล์ ให้แก่ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานแพทย์ในการออกตรวจและรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่สาธารณสุข อ.จอมบึง จ.ราชบุรี คุณทิพย์ เล่าต่อว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นอีกช่วงหนึ่งที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับช่วงวิกฤตปัญหาผู้ป่วยล้นเตียง และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในการช่วยเหลือไม่เพียงพอ ตนจึงเป็นโต้โผใหญ่ชวนนายวิรัช นอบน้อมธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน และกรรมการบริษัทฯ และบริษัทในเครือ นำเครื่องช่วยหายใจ High Flow Oxygen จำนวน 4 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ไปมอบให้กับโรงพยาบาลสิรินธร สำนักการแพทย์ กทม. เพื่อช่วยสนับสนุนเครื่องมือสำคัญแก่บุคลากรทางการแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ป่วย อีกทั้งมีการบริจาคเครื่องผลิตออกซิเจนขนาด 10 ลิตร จำนวน 7 เครื่อง ให้กับหอผู้ป่วยวิกฤตโควิด-19 (ICU สนาม) โรงพยาบาลศิริราช และกระจายไปยังโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช และโรงพยาบาลชัยบาดาล จ.ลพบุรีเครื่อง อีกจำนวน 5 เครื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้บริจาคอาหารเสริม น้ำดื่ม ของใช้เด็ก และสนับสนุนอาหารประจำวันจำนวนสามมื้อให้กับน้องๆ และเจ้าหน้าที่ในสถานสงเคราะห์เด็กบ้านคามิลเลียนเพื่อเด็กพิการลาดกระบัง ภายหลังจากเหตุที่มีเด็กและเจ้าหน้าที่บางส่วนติดเชื้อโควิด-19 ให้กับเด็กๆ และเจ้าหน้าที่ในสถานสงเคราะห์อีกด้วย ต่อมาในช่วงปลายปี 2564 หลังจากประชาชนจำนวนมาก ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 แล้ว ทำให้จำนวนตัวเลขของผู้ป่วยติดเชื้อลดน้อยลง และดูเหมือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย แต่หลายจังหวัดในภาคใต้กลับประสบกับอุทกภัยอย่างหนัก ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือนร้อน ขาดแคลนที่อยู่อาศัย อาหาร และน้ำดื่ม ทางบริษัทฯ ได้จัดการสนับสนุนรถขนส่งน้ำดื่มให้กับสำนักงานพัฒนาภาค 4 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และล่าสุดบริษัทฯ ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับวิสาหกิจชุมชนจากการเข้าร่วมโครงการ Rayong Influencer Challenge 2021 เพื่อระดมรายได้สนับสนุนสินค้าชุมชนที่เป็นของดีในจังหวัดระยอง จากความตั้งใจที่จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่มีโอกาสช่วยเหลือสังคม ในปีนี้ ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ ได้จัดทำโครงการต่างๆ รวมมูลค่ากว่าสองล้านห้าแสนบาท และยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน ไปพร้อมกับการยืนเคียงข้างภาคสังคมและชุมชนให้สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกัน เพราะเราเชื่อว่าแม้ในยามยากลำบาก เราจะสามารถผ่านวิกฤตไปพร้อมกันได้ด้วยการเกื้อกูล

III โชว์ผลงาน Q3/64 ทุบสถิติกำไรทะลุ 100 ล้านบาท มั่นใจสิ้นปีโตกว่าสองเท่า ผุด Business Development Unit จับอีคอมเมิร์ซ-นิวนอร์มอล และเตรียมขยายธุรกิจตัวแทนสายการบิน หนุนโตต่อเนื่องหลังโควิดคลี่คลาย

บมจ. ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ หรือ III  โชว์ผลประกอบการ Q3/64 ฝ่าวิกฤติโควิดสร้างกำไรต่อเนื่องทะลุ 100 ล้านบาท เชื่อมั่นผลดำเนินงานสิ้นปีนี้ทุบสถิติ All Time High เติบโตมากกว่า 2 เท่า จับเทรนด์นิวนอร์มอลจากสถานการณ์โควิด แตกกลุ่มธุรกิจ Business Development Unit ปั้นแหล่งรายได้ใหม่ เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล ตอกย้ำการเป็นผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจรบมจ. ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ หรือ III  โชว์ผลประกอบการ Q3/64 ฝ่าวิกฤติโควิดสร้างกำไรต่อเนื่องทะลุ 100 ล้านบาท เชื่อมั่นผลดำเนินงานสิ้นปีนี้ทุบสถิติ All Time High เติบโตมากกว่า 2 เท่า จับเทรนด์นิวนอร์มอลจากสถานการณ์โควิด แตกกลุ่มธุรกิจ Business Development Unit ปั้นแหล่งรายได้ใหม่ เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล ตอกย้ำการเป็นผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจร นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III ผู้นำด้านโลจิสติกส์ครบวงจรของไทยเปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2564 ยังสามารถเติบโตต่อเนื่องแม้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทั้งของประเทศไทยและทั่วโลกจะยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19  โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิไตรมาสล่าสุดนี้จำนวน 100.2 ล้านบาท เติบโตกว่าร้อยละ 75.9 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และเติบโตร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากความสำเร็จดังกล่าว มีปัจจัยสำคัญมาจากความสามารถของบริษัทฯ ในการบริหารธุรกิจท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ และมาตรการ Lockdown ในประเทศ โดยได้ปรับยุทธศาสตร์ให้บริษัทฯ เป็น Operating Holding เต็มรูปแบบ ตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้บริษัทฯ มีผลประกอบการหลักมาจาก 2 ส่วนคือ จาก 4 กลุ่มธุรกิจหลักในปัจจุบัน และจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ยังสร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดี “เรามั่นใจว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จะยังคงรักษาความสามารถในการสร้างผลกำไรที่ดีได้อย่างต่อเนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจ และยังเดินหน้าพัฒนาธุรกิจใหม่ในทุกรูปแบบ จึงเชื่อว่าผลการดำเนินงานในปีนี้จะสามารถเติบโตได้เป็นสองเท่าของปี 2563” นายทิพย์กล่าว บริษัทฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการเติบโตอย่างยั่งยืน สู่การเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ชั้นนำในระดับภูมิภาคผ่านโมเดลธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งการขยายธุรกิจเพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่และเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ พร้อมทั้งขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ไปสู่กลุ่มคอนซูเมอร์ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการปลายทาง สร้างมิติใหม่ในธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ล่าสุด บริษัทฯ ได้แตกกลุ่มธุรกิจใหม่ภายใต้ชื่อ Business Development Unit (BU5) เพิ่มเติมจาก 4 กลุ่มธุรกิจหลักที่มีอยู่เดิมเพื่อรองรับเทรนด์ของตลาดที่เปลี่ยนไป ทั้งในด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค และบทบาทของเทคโนโลยีที่จะสามารถเข้ามาสนับสนุนธุรกิจมากขึ้น โดยโมเดลธุรกิจจะครอบคลุมทั้งการพัฒนาบริการใหม่ๆ การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) และการร่วมลงทุน โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2566 จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างสัดส่วนผลประกอบการให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของผลประกอบการรวมของบริษัทฯ ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้ในระยะยาว นายทิพย์ กล่าวว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงกระแสของ Business Disruption เป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนในการตัดสินใจตั้ง BU5 ขึ้นมา ซึ่ง BU5 จะมีความคล่องตัวมากกว่าการดำเนินงานภายใต้โครงสร้างเดิม เพื่อรองรับการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ที่จะสร้างความโดดเด่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ รวมทั้งคู่ค้าและลูกค้า สำหรับ BU5 วางแนวคิดการสร้างการเติบโตภายใต้คอนเซ็ปต์ “Logistics and Beyond” BU 5 ทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อน ธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยกลยุทธ์ในการขยายขอบเขตการให้บริการต่อยอดบริการเดิมที่มีอยู่ รวมไปถึงพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์โมเดลใหม่ที่แตกต่างไปจากธุรกิจรูปแบบเดิม ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการภายใต้ BU5 ดังนี้ 1. การพัฒนาสู่การเป็นผู้นำด้านการเป็นตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบินในระดับภูมิภาค เพื่อขยายจากพื้นที่เดิมซึ่งในปัจจุบันเป็นตัวแทนให้แก่สายการบินทั่วภูมิภาคกว่า 20 สายการบิน และปี 2565 จะเห็นการเติบโตอีกมาก โดยตั้งเป้าการเป็นเบอร์ 1 ของตลาดนี้ ซึ่งจากการที่บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ANI) แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2564 ต่อจากนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนใน ANI เพิ่มเติม เป็นเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการเข้าซื้อกิจการกลุ่มบริษัท เอเชีย จีเอสเอ (เอ็ม) เซินดิเรียน เบอร์ฮัด (ASIA GSA (M) Sdn. Bhd. ในสัดส่วน 20% คิดเป็นมูลค่ากว่า 732 ล้านบาท โดยจะรวมศูนย์กลางสำนักงานใหญ่ไว้ที่ประเทศไทย และกระจายจัดตั้งสำนักงานสาขาในอีกกว่า 10 เมืองของภูมิภาคนี้ อาทิ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา โดยมุ่งเน้นเมืองที่เป็นฮับของสายการบิน เป็นเส้นทางการบินหลัก และเป็นฐานการกระจายสินค้าในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะนำ ANI เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Asia GSA (M) ในอนาคต “การปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจขายระวางสินค้าสายการบินในครั้งนี้ เป็นการประสานร่วมกันระหว่างบริษัทฯ กับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งทำให้ขยายขีดความสามารถในการแข่งขันการเป็นตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่มีอุปสงค์ในการขนส่งสินค้าทางอากาศสูง เมื่อเทียบกับอุปทานที่ยังไม่สามารถตอบสนองได้จากสถานการณ์การบินในปัจจุบัน” นายทิพย์กล่าว 2. การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ภายในประเทศสำหรับกลุ่มลูกค้าอี-คอมเมิร์ซ เพื่อรองรับการเติบโตทั้งแบบ B2B, B2C และการให้บริการคลังสินค้า (Fulfillment) วางเป้าหมายขยายจากฐานลูกค้ากลุ่ม B2B ไปในกลุ่ม B2C โดยจะมีการลงทุนผ่านสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็น Delivery Logistics ซึ่งเติบโตตามธุรกิจจัดส่งสินค้าและอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ เตรียมต่อยอดจากการเข้าไปลงทุนใน ShipSmile ผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจขายแฟรนไชส์ให้ผู้ประกอบการในการขนส่งพัสดุ และเป็นจุดรวบรวมการขนส่งพัสดุภายในประเทศจากบริษัทขนส่งชั้นนำ และสามารถสร้างผลกำไรที่น่าพอใจในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสาขาจากกว่า 4,000 สาขา เป็น 10,000 สาขาภายในปีหน้า พร้อมเพิ่มความหลากหลายของบริการ ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส รับจองตั๋ว รับชำระค่าบริการ เป็นต้น โดยวางตำแหน่งของ ShipSmile เป็น Express Shop ที่เป็นมิตรกับผู้ประกอบการขนส่งพัสดุทุกราย ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบอัตราค่าบริการ โปรโมชั่น และตารางเวลาจัดส่ง เป็นทั้งจุดรับและส่งสินค้าให้กับผู้ใช้บริการ โดยเป็นการผสานทั้งช่องทางแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพิ่มตัวเลือกให้กับทั้งลูกค้าและคู่ค้าของ ShipSmile 3. การพัฒนาบริการขนส่งสินค้าในระบบราง ทางบริษัทฯ ได้ศึกษาโอกาสในการพัฒนาการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมขยายเส้นทางการขนส่งข้ามแดนระหว่างประเทศ เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าลาว-จีน (BRI) ซึ่งอาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาตร์ของประเทศไทยในการเป็นฮับระดับภูมิภาค และเป็นศูนย์กระจายสินค้าในอาเซียน  บริษัทฯ ตั้งเป้าเริ่มให้บริการได้ภายในไตรมาสแรกปี 2565 โดยเพิ่มระยะทางขนส่งทางรางครอบคลุมตั้งแต่มาเลเซีย กรุงเทพ แหลมฉบัง ลาว จีนตอนใต้และตะวันตก สำหรับบริการขนส่งสินค้าในระบบรางภายในประเทศจะพร้อมให้บริการภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะมีเส้นทางการให้บริการจากภาคใต้มายังภาคกลาง และจากภาคตะวันออกมายังภาคกลาง พร้อมให้บริการขนส่งทางบกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากสถานีรถไฟไปยังจุดหมายที่ลูกค้าต้องการ 4. การพัฒนา E-Logistics Platform เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยจะขยายสู่การให้บริการแบบครบวงจรให้แก่ลูกค้าทั้งกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าและผู้ขายสินค้าออนไลน์ ตั้งแต่การให้บริการคลังสินค้าที่มีอยู่แล้ว ไปจนถึงบริการด้าน Digital Marketing Agency โดยผนึกกับพันธมิตรที่ชำนาญด้านการตลาดดิจิทัล นำเสนอเป็นโซลูชั่นวางแผนการตลาดที่เจาะได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มโอกาสให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์สามารถขยายช่องทางเติบโตของยอดขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งมาร์เก็ตเพลส และโซเชียล มาร์เก็ตติ้ง และ 5. บริการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิให้กับสินค้ากลุ่มอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ เป็นการต่อยอดความชำนาญและจุดแข็งในธุรกิจบริการจัดส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของบริษัทฯ ไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูง คือการจัดส่งด้วยการควบคุมอุณหภูมิ สำหรับสินค้าอาหารและยา/เวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นโอกาสแหล่งรายได้ใหม่ที่บริษัทฯ สนใจทำอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมามีการเปิดสำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์ โฟกัสกลุ่มขนส่งวัคซีนและยาที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิตลอดการขนส่งและจัดเก็บ “จากการผสานศักยภาพกลุ่มธุรกิจหลักที่มีอยู่เดิม และการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้ BU5 จะนำมาซึ่งยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กรในรูปแบบใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล ส่งเสริมขีดความสามารถของธุรกิจให้เติบโตตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับทั้งกลุ่มทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ คู่ค้า และลูกค้า อีกทั้งการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย” นายทิพย์กล่าว