"ทริพเพิล ไอ" ฝ่าวิกฤต COVID-19 ได้ดีเกินคาด สร้างผลงานดีกว่าไตรมาสแรก 39.8%
“ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์” โชว์ผลงานดีสร้างกำไรสุทธิ 31.5 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสก่อน 39.8% ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดในไตรมาส 2/2563 เปิดแผนครึ่งปีหลังคุมค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง โฟกัสขนส่งสินค้าทางอากาศภายในประเทศ เร่งพัฒนาแพลทฟอร์มรองรับอีคอมเมิร์ซ
นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III เปิดเผยว่า “ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 31.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.0 ล้านบาท จากไตรมาส 1/2563 เติบโตขึ้นร้อยละ 39.8 แม้ว่ามูลค่าการนำเข้าส่งออกของประเทศไทยในไตรมาสที่ผ่านมาจะลดลงถึงร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ การเติบโตของกำไรสุทธิดังกล่าวเป็นผลมาจากแผนการบริหารจัดการต้นทุน และผลประกอบการที่โดดเด่นของบริษัทร่วมและการร่วมค้า จากการเข้าลงทุนของบริษัทฯ ตามกลยุทธ์การขยายธุรกิจในภูมิภาคเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยมีส่วนแบ่งกำไรในไตรมาส 2/2563 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 78.8
ในส่วนของรายได้รวมในไตรมาส 2/2563 ของบริษัทฯ มีจำนวน 346.6 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าลดลงร้อยละ 15.0 และลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 51.3 ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยกเว้นกลุ่มธุรกิจการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่ยังสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานธุรกิจขายระวางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศของบริษัทฯ ผ่านบริษัท เทเลพอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งรับรู้ผลประกอบการในลักษณะของส่วนแบ่งกำไรแทนการบันทึกรายได้จากการขายระวางขนส่งสินค้า”
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในครึ่งปีหลัง ในส่วนของธุรกิจหลักทั้ง 4 กลุ่มนั้น กลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ คาดว่าจะยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เต็มรูปแบบในเร็ววันนี้ บริษัทฯ ยังคงเน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนขาย มุ่งขยายธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ ซึ่งสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงการแพร่ระบาดที่เริ่มคุ้นชินต่อการใช้แพลทฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ในการสั่งซื้อสินค้า ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าภายในประเทศ ส่วนการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศที่มีบางสายการบินกลับมาบริการบางเส้นทาง ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจการรับจัดการขนส่งสินค้าแบบ Wholesale จากการมีทางเลือกให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น และยังมีอัตราการทำกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปทานในตลาดยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศแบบเช่าเหมาลำ โดยเลือกเส้นทางที่มีความต้องการสูงและสร้างกำไรได้
ทางด้านกลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลและทางบก เน้นการให้บริการขนส่งสินค้าทางบกและการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลตอบรับค่อนข้างดีจากที่เริ่มให้บริการในไตรมาสก่อน และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกเนื่องจากการขนส่งสินค้าทางอากาศยังไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ
กลุ่มธุรกิจบริหารจัดการโลจิสติกส์สำหรับสินค้าทั่วไป จะมุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 หรือกระทบไม่มาก ได้แก่ ลูกค้ากลุ่มอาหาร ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งลูกค้ากลุ่มการก่อสร้างโครงการ สาธารณูปโภคพื้นฐาน และพลังงานไฟฟ้า จะเน้นการให้บริการผ่านการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น การนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ของโครงการต่างๆ ทางทะเลจากประเทศจีนผ่านไทยส่งต่อไปยังประเทศในกลุ่มอินโดจีนโดยใช้รถขนส่งสินค้าข้ามแดน เช่น ลาว กัมพูชา
และในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์สำหรับสินค้าอันตรายและเคมีภัณฑ์ บริษัทฯ มีแผนเพิ่มพื้นที่คลังสินค้าในไตรมาส 3/2563 เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังขยายไลน์สินค้าด้วยการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนขนาดและการใช้งานให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเพิ่มเติมจากบรรจุภัณฑ์ขนาดมาตรฐานที่เคยจำหน่าย ส่วนธุรกิจของบริษัท DGPS (Singapore) คาดว่ายังสามารถสร้างผลประกอบการได้ดีทั้งจากบริการเดิมและบริการใหม่ที่มีผลตอบรับดีอย่างบริการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อให้หน่วยงานและสำนักงานต่าง ๆ อีกทั้งการขนส่งสินค้าแอลกอฮอล์ น้ำยาทำความสะอาดที่มีอุปสงค์ในช่วงแพร่ระบาดยังคงมีการเติบโตได้ดี
นอกจากการพัฒนาธุรกิจหลักทั้ง 4 กลุ่มแล้ว ในส่วนของกลุ่มธุรกิจ Business Development บริษัทฯ มีแผนขยายแหล่งรายได้ในธุรกิจแบบใหม่เพิ่มมากขึ้นภายใต้ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การต่อยอดขยายธุรกิจร่วมกับพันธมิตรร่วมค้า การขยายขอบเขตการให้บริการโลจิสติกส์ และการพัฒนารูปแบบบริการด้านโลจิสติกส์ด้วย Digital Platform โดยบริษัทฯ จะโฟกัสธุรกิจการขนส่งสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ภายในประเทศ รวมทั้งธุรกิจบริการขนส่งสินค้าทางอากาศแบบ Charter Flight ในลักษณะ On Demand การศึกษาและพัฒนาบริการด้านการขนส่งทางบกในระบบอื่นๆ ที่บริษัทฯ ยังไม่เคยให้บริการมาก่อนเพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ อีกทั้งการพัฒนาแพลทฟอร์มสำหรับกลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซให้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการสร้าง E-Logistics Platform เพื่อต่อยอดให้ฐานลูกค้าปัจจุบันของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม B2B ให้มีศักยภาพและช่องทางในการขายในลักษณะ Online Marketplace เพิ่มขึ้น