ทริพเพิล ไอ ปรับกลยุทธ์ฟื้นธุรกิจหลังพิษโควิด-19 ปูพรมรุกระบบขนส่งสินค้าภายในประเทศ เร่งพัฒนาอีโลจิสติกส์สำหรับอีคอมเมิร์ซ พร้อมผนึกพันธมิตรเสริมธุรกิจแกร่ง
ทริพเพิล ไอ ปรับกลยุทธ์ฟื้นธุรกิจหลังพิษโควิด-19 ปูพรมรุกระบบขนส่งสินค้าภายในประเทศ
เร่งพัฒนาอีโลจิสติกส์สำหรับอีคอมเมิร์ซ พร้อมผนึกพันธมิตรเสริมธุรกิจแกร่ง
นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งทางกลุ่มบริษัทเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จึงได้มีการวางแผนเพื่อปรับแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อฟื้นฟูรายได้บางส่วนของกลุ่มบริษัทที่สูญเสียไป โดยเฉพาะรายได้จากกลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะเป็นแผนการดำเนินงานปี 2563-2566 โดยจะมุ่งเน้นการขยายฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งมีทั้งการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ รวมทั้งการสร้างสรรค์โลจิสติกส์แพลตฟอร์มที่ตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนไปของกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน และการต่อยอดธุรกิจเพื่อชดเชยรายได้ของกลุ่มบริษัทที่หายไป และยังเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจในอนาคตอีกด้วย”
โดยแผนการพัฒนาธุรกิจดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- การขยายการให้บริการด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศ ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทมุ่งเน้นการทำธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่ภายหลังวิกฤตโรคระบาดเกิดการปิดประเทศทั่วโลก ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาค ทำให้แนวโน้มการขนส่งสินค้าภายในประเทศมีโอกาสเติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางบริษัทได้ทำการพัฒนาการขนส่งภายในประเทศรูปแบบใหม่ๆ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้
- การขึ้นเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์สำหรับสินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มยารวมถึงเวชภัณฑ์ ทางกลุ่มบริษัทเชื่อมั่นว่าสินค้าทั้งสองกลุ่มนี้จะมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเห็นได้จากข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารในเดือน ม.ค.-พ.ค. 2563 อยู่ที่ 9,847 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มผักผลไม้สด แช่แข็ง และแปรรูป ทูน่ากระป๋อง ไก่แช่แข็งและแปรรูป ซึ่งสวนทางกับภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยในห้าเดือนแรกของปีนี้ที่มีอัตราลดลงจากปีก่อนร้อยละ 3.7 ในขณะที่ภาพรวมการนำเข้าสินค้าของไทยในเดือน ม.ค.-พ.ค. 2563 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 11.6 แต่สินค้ากลุ่มยาและเวชภัณฑ์ กลับมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 หรือคิดเป็นมูลค่า 1,406 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
- การร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ในการขยายฐานธุรกิจโลจิสติกส์ของกลุ่มบริษัทให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนารูปแบบบริการด้านโลจิสติกส์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับลูกค้ากลุ่มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งพบว่าหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีผลต่อการใช้บริการด้านโลจิสติกส์ ส่งผลให้การสั่งสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทางกลุ่มบริษัทได้เล็งเห็นโอกาสในการขยายตลาดดังกล่าว ภายหลังจากการเข้าลงทุนในบริษัท แกแล็คซี่ เวนเจอร์ส จํากัด (GV) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทได้เริ่มพัฒนารูปแบบบริการด้านโลจิสติกส์ด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มหรืออีโลจิสติกส์สำหรับลูกค้ากลุ่มอีคอมเมิร์ซ โดยอาศัยจุดแข็งของบริษัทร่วมทุนอย่าง GV ที่มีบริษัทย่อย เช่น X Commerce ที่มีความชำนาญในการสร้างแพลทฟอร์มสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และ Sokochan ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์สำหรับกลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซ โดยจัดทำ Fulfillment Center สำหรับกลุ่มสินค้าที่เป็นอาหารสดที่ใช้ช่องทางการค้าในลักษณะออนไลน์ อีกทั้งยังมีการวางแผนพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อต่อยอดกับธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน